ติดต่อเรา 055-416601 ต่อ 1328 E-mail : coop-center@uru.ac.th

คู่มือสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษา

บทบาทและหน้าที่ของนักศึกษา

คุณสมบัตินักศึกษาสหกิจศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชาของแต่ละคณะจะเป็นผู้พิจารณานักศึกษาที่มีคุณสมบัติดังนี้

1. นักศึกษาสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษาก็ต่อเมื่อนักศึกษาผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตตามหลักสูตรสาขาวิชานั้น และมีเวลาการศึกษาเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษา

2. นักศึกษาต้องมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 ในระดับปริญญาตรี และ 3.00ในระดับบัณฑิตศึกษา

3. นักศึกษาต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชาต้นสังกัดของนักศึกษาตามเกณฑ์ที่คณะ/วิทยาลัย กำหนด

4. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

5.มีความประพฤติเรียบร้อย มีความรับผิดชอบ และไม่อยู่ระหว่างถูกพักการศึกษา

หน้าที่ของนักศึกษาสหกิจศึกษา มีดังนี้

1. ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ตามช่องทางข้อมูลข่าวสารดังนี้ เพจ Facebook ศูนย์สหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เว็บไซต์ของศูนย์สหกิจศึกษา http://coop.uru.ac.th/

2. นักศึกษาจะต้องผ่านการปฐมนิเทศและผ่านรายวิชาเตรียมพร้อมสหกิจศึกษาแต่ละหลักสูตร/สาขาวิชาที่สังกัด (กิจกรรม/โครงการฯ ที่หลักสูตรจัดเตรียมความพร้อมนักศึกษา) และผ่านการเตรียมความพร้อมสหกิจศึกษาตามที่ศูนย์สหกิจศึกษา (กิจกรรม/โครงการฯ ที่ศูนย์สหกิจศึกษากำหนดให้นักศึกษา) รวมชั่วโมงการเตรียมความพร้อมสหกิจศึกษาทั้งหมด 30 ชั่วโมง ตามมาตรฐานของสหกิจศึกษาไทย

3. นักศึกษาจะต้องหมั่นฝึกฝนและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทักษะด้านภาษา ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

4. นักศึกษาจะต้องไปรายงานตัวภายในวันและเวลาที่กำหนด พร้อมด้วยเอกสารดังนี้ 4.1 หนังสือส่งตัว พร้อมแบบประเมิน สก.13 และสก.14 4.2 บัตรประจำตัวนักศึกษา, บัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน 4.3 คู่มือการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และเอกสาร สก.07, สก.08 และสก.09

5.นักศึกษาจะต้องตั้งใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างาน หรือผู้นิเทศงานสหกิจศึกษา (พี่เลี้ยง) อย่างเต็มกำลังความสามารถ

6. นักศึกษาจะต้องปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยหรือข้อบังคับของสถานประกอบการ หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งในสถานประกอบการ ทุกกรณี

7. นักศึกษาจะต้องส่งเอกสาร สก.07, สก.08 และ สก.09 ตามกำหนดให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชาที่สังกัด หรือส่งได้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์สหกิจศึกษา

8. กรณีที่นักศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น งานที่ได้รับไม่ตรงกับสาขาวิชา,นักศึกษาประสบอุบัติเหตุหรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพระหว่างปฏิบัติงาน นักศึกษาจะต้องรีบติดต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา หรือศูนย์สหกิจศึกษา เพื่อหาทางแก้ปัญหา

9. กรณีหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการ นักศึกษาจะต้องส่งผลงานโครงงาน/รายงานกรณีศึกษา พร้อมแบบสรุปโครงงาน/ผลงาน (สรุปเอกสารกระดาษ A4 ความยาวไม่เกิน 5 แผ่น) และทำโปสเตอร์ผลงานนักศึกษาตามแบบฟอร์มที่ศูนย์สหกิจศึกษากำหนด (Save file JPE ส่งให้ศูนย์สหกิจศึกษา E-mail : coop-center@uru.ac.th) ให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์สหกิจศึกษาเพื่อรวบรวมผลงานนักศึกษา และจะทำการคัดเลือกผลงานนักศึกษาเพื่อเป็นตัวแทนการแข่งขันประกวดผลงานสหกิจศึกษาดีเด่นระดับมหาวิทยาลัย ระดับเครือข่ายสหกิจศึกษาภาคเหนือตอนล่าง และระดับชาติต่อไป

ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา มีดังนี้

1. ได้รับประสบการณ์ตรงตามสาขาวิชาชีพที่เรียนเพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน

2. เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ มีความมั่นใจตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ

3. ได้พบกับปัญหาต่างๆ ที่แท้จริงในการทำงาน และคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง

4. ส่งผลให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรายวิชาเพิ่มมากขึ้นภายหลังการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ

5. เกิดทักษะการสื่อสารข้อมูลการทำงานภายในสถานประกอบการ (Communication Skill)

6.สามารถเลือกสายอาชีพได้อย่างถูกต้องเนื่องจากได้ทราบความถนัดของตนเองมากขึ้น

7. สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงาน และมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนที่สำเร็จการศึกษา

8. กรณีที่นักศึกษาสหกิจศึกษาได้รับการคัดเลือกผลงานโครงงานเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดผลงานสหกิจศึกษาดีเด่นระดับเครือข่ายสหกิจศึกษาภาคเหนือตอนล่าง และได้รับรางวัลอันดับที่ 1 ของแต่ละประเภทผลงานนั้น นักศึกษาจะได้รับค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีผลงานดีเด่น ตามระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด


ข้อแนะนำและแนวปฏิบัติสำหรับนักศึกษาสหกิจศึกษา

แนวปฏิบัติสำหรับนักศึกษาสหกิจศึกษา

เพื่อให้การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาเป็นไปด้วความเรียบร้อยและเพื่อให้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติพร้อมที่จะไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการ และหลักสูตร/สาขาวิชา ได้กำหนดระเบียบให้นักศึกษาถือเป็นแนวปฏิบัติ ในส่วนที่เกี่ยวกับสหกิจศึกษาดังนี้

คำถาม: ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้พร้อมที่จะไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

คำตอบ: นักศึกษาต้องทราบถึงคุณสมบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษาตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ได้แก่ ต้องสอบผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 นับถึงภาคการศึกษาสุดท้าย ก่อนทำการสมัครงานสหกิจศึกษา ต้องผ่านเงื่อนไขทางวิชาการที่สาขาวิชากำหนด ไม่อยู่ระหว่างการถูกพักการศึกษาในภาคการศึกษาสหกิจศึกษา ไม่เคยต้องโทษวินัยนักศึกษาตั้งแต่ระดับพักการศึกษาขึ้นไป เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสาขาวิชาและได้รับการรับรองความประพฤติจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และนักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการ ทักษะการทำงาน ทักษะด้านภาษา ทักษะคอมพิวเตอร์ และทักษะด้านบุคลิกภาพ เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษาควรวางแผนในอนาคตว่าตัวเองต้องประกอบอาชีพอะไร สถานประกอบการหรือองค์กรประเภทใดต้องรับเข้าทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเลือกงานสหกิจศึกษา

คำถาม: สหกิจศึกษาต่างจากการฝึกงานอย่างไร

คำตอบ: มีความแตกต่างกันตามตารางเปรียบเทียบ ดังนี้ความแตกต่างระหว่างสหกิจศึกษาและการฝึกงาน

ประเด็นการเปรียบเทียบ ปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
1. รูปแบบของการขอเข้าไปปฏิบัติสหกิจศึกษาหรือฝึกงาน นักศึกษาต้องเขียนและยื่นใบสมัครต่อองค์ผู้ใช้บัณฑิตในลักษณะเดียวกันกับการสมัครงานและต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ และการคัดเลือกจากองค์กรผู้ใช้บัณฑิต โดยส่วนใหญ่มักไม่มีการยื่นใบสมัครและสัมภาษณ์นักศึกษาแต่พิจารณาจากหนังสือ/จดหมายขอความอนุเคราะห์รับนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันอุดมศึกษา
2. สถานะของนักศึกษาในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต นักศึกษาจะเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์กรผู้ใช้บัณฑิตในฐานะพนักงานเต็มเวลา นักศึกษาอยู่ในสถานะของนักศึกษาฝึกงาน
3.คุณสมบัติของนักศึกษา ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดและผ่านการอบรม สหกิจศึกษา 30 ชั่วโมง ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด
4. ลักษณะการทำงาน ทำโครงงานในระหว่างปฏิบัติงาน ทำโครงงานหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับสาขา
5. ระยะเวลาการปฏิบัติงาน ปฏิบัติงานเต็มเวลา ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษาหรือ 16 สัปดาห์ มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมงทำการ
6. การดูแลนักศึกษาระหว่างการปฏิบัติงาน องค์กรผู้ใช้บัณฑิตจัดให้มีหัวหน้างานหรือบุคลากรที่เหมาะสมทำหน้าที่พนักงานที่ปรึกษา(JobSupervisor) หรือพี่เลี้ยง (Mentor) ทำหน้าที่กำหนดงานให้นักศึกษาปฏิบัติดูแลให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน องค์กรผู้ใช้บัณฑิตจัดให้มีหัวหน้างานเพื่อดูแลและสอนงาน
7. การส่งผลการปฏิบัติงานของนักศึกษา นักศึกษาสหกิจศึกษาจะต้องทำรายงานวิชาการจำนวน 1 เล่ม ในหัวข้อเนื้อหาที่องค์กรผู้ใช้บัณฑิตและอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาในสาวิชากำหนด จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (บันทึกการทำงานประจำวัน)
8. การประสานงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์ผู้ใช้บัณฑิต มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรผู้ใช้บัณฑิตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะมีการประสานงานช่วงก่อนส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงานและหลังจบฝึกงาน
9. การติดตามผลการปฏิบัติงาน อาจารย์นิเทศหรืออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาในหลักสูตร/สาขาวิชา จะทำหน้าที่ดูแล ติดตามการปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งการนิเทศงานของนักศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้ง/1ชั่วโมง ระหว่างที่นักศึกษา ปฏิบัติงาน ณ องค์ผู้ใช้บัณฑิต คณะกรรมการดำเนินงานออกตรวจเยี่ยมนักศึกษาฝึกงานไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลาของการฝึกงาน
10. การประเมินผล ต้องผ่านการประเมินผลจากอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกับพนักงานที่ปรึกษา พิจารณาจากผลการประเมินขององค์กรผู้ใช้บัณฑิตและกรนรมการดำเนินการฝึกงาน
11 .การสรุปผลการปฏิบัติงาน เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานจะมีสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษา ผู้บริหารและผู้แทนองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา เพื่อทราบถึงพัฒนาการและความสามารถในการนำเสนอและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การจัดกิจกรรมเมื่อสิ้นสุดการฝึกงานขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้กำหนด


คำถาม : ไปทำงานจริงๆ กับไปสหกิจศึกษามีความยากง่ายในการทำงานและมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

คำตอบ : การปฏิบัติงานสหกิจศึกษาจะมีระยะเวลาการปฏิบัติงานอย่างน้อย 16 สัปดาห์ ความยากง่ายของการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น ลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ความคาดหวังของสถานประกอบการณ์ คุณลักษณะและความรู้ความสามารถของนักศึกษา หากนักศึกษาพบปัญหาหรือไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจะมีพนักงานที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานให้คำแนะนำ และนักศึกษาสามารถขอความแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชาที่สังกัด ซึ่งขณะเดียวกันสถานประกอบการณ์ยังมองเราเป็นนักศึกษาเสมอ และมักให้อภัยหากเกิดความผิดพลาดที่ไม่รุนแรงซึ่งต่างจากชีวิตการทำงานจริงๆ ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูง ต้องมีความรู้ความสามารถในตำแหน่งที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี ความผิดพลาดต้องไม่มีหรือมีน้อยที่สุด หากเราทำงานไร้ประสิทธิภาพย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กร นั่นคือความเสียหายที่องค์กรรับไม่ได้

คำถาม : สมัครงานแล้วจะได้เลยหรือไม่

คำตอบ : เนื่องจากนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย และต่างมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาสหกิจศึกษา แต่ละสาขาวิชาจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป หากนักศึกษาไม่ได้รับการคัดเลือกหรือพิจารณาจะต้องสมัครงานเพื่อเลือกสถานประกอบการใหม่จนกว่าจะได้รับการตอบรับจนกว่าจะได้งานทั้งนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะเป็นผู้ใช้ให้คำแนะนำการเลือกสถานประกอบการณ์ให้กับนักศึกษารวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์สหกิจศึกษาจะเป็นผู้จัดทำจดหมายสมัครงานของนักศึกษาส่งให้กับสถานประกอบการ

คำถาม :ได้รับการตอบรับจากสถานประกอบการแล้ว สามารถเปลี่ยนสถานประกอบการณ์ได้หรือไม่

คำตอบ :เมื่อนักศึกษาได้รับการตอบรับจากสถานประกอบการแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนสถานประกอบการณ์ใหม่ เนื่องจากสถานประกอบการณ์ได้เตรียมบุคลากร งาน เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของนักศึกษาแล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสถานประกอบการใหม่ของนักศึกษ่าอาจมีผลกระทบต่อการรับนักศึกษาสหกิจศึกษาในรุ่นถัดไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เจ็บป่วย โดยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบการพิจารณาโดยนักศึกษาจะต้องทำบันทึกข้อความเพื่อแจ้งสาเหตุ และเหตุผลของการเปลี่ยนสถานประกอบการ โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชาเป็นผู้รับรอง

คำถาม:จะทำอย่างไรดีถ้างานที่ได้รับมอบหมายในระหว่างไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาต่ำกว่าความสามารถของนักศึกษา เช่น งานถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ

คำตอบ:งานที่ไม่มีคุณภาพหรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่างานถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ เป็นงานที่ไม่พึงประสงค์หากนักศึกษาไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา 16 สัปดาห์ แล้วได้รับมอบหมายให้ทำงานประเภทนี้ เป็นประจำ นักศึกษาควรแสดงศักยภาพให้สถานประกอบการเห็นว่าสามารถทำงานได้มากกว่านี้ด้วยการของานอื่นที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่คิดว่าสามารถช่วยพัฒนางานสถานประกอบการได้ หรือแจ้งไปที่ศูนย์สหกิจศึกษาฯและคณาจารย์เพื่อให้สถานประกอบการได้ แจ้งข้อมูลมายังอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร/สาขาวิชา เพื่อให้สถานประกอบการช่วยปรับงาน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย ศูนย์สหกิจศึกษาฯ ต้องขอเปลี่ยนสถานประกอบการใหม่ถ้าสถานประกอบการนั้นไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษา แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่างานเหล่านี้จะไม่ได้ใช้ความสามารถอะไรมากนักนักศึกษาควรช่วยเหลือพี่เลี้ยง (ผู้นิเทศงาน) หรือพนักงานที่ปรึกษา หรือสถานประกอบการมีโอกาสตามสมควร

คำถาม:หากเกิดปัญหาเมื่อสถานประกอบการณ์ไม่ยอมแต่งตั้งพนักงานที่ปรึกษา หรือแต่งตั้งแล้วพนักงานที่ปรึกษามักไม่ว่าง ยุ่งอยู่ตลอดเวลาจะทำอย่างไร

คำตอบ:ประการแรกขอให้นักศึกษาปรึกษากับฝ่ายบริหารงานบุคล หรือฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ของสถานประกอบการซึ่งมีหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง(ผู้นิเทศงาน) ให้กับนักศึกษา หรือกรณีที่นักศึกษาเริ่มคุ้นเคยกับสถานประกอบการแล้ว นักศึกษาสามารถทาบทามพนักงานอาวุโสที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวกันเหมือนประสบการณ์ในงานนั้นเป็นอย่างดี โดยการเสนอชื่อหรือคำปรึกษากับฝ่ายบริหารงานบุคคลเพื่อแต่งตั้งพนักงานที่นักศึกษาทาบทามไว้แล้ว แต่ถ้าสุดวิสัยที่นักศึกษาจะแก้ไขปัญหาได้ควรติดต่อปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาได้ประสานงานกับสถานประกอบการในรายละเอียด ในกรณีที่พนักงานที่ปรึกษาไม่ว่างหรือยุ่งอยู่ตลอดเวลา นักศึกษาควรหาเวลาพูดคุยกับที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง (ผู้นิเทศงาน)


การประกันอุบัติเหตุสำหรับนักศึกษาสหกิจศึกษา มีดังนี้

1. ให้ความคุ้มครองแก่นักศึกษาสหกิจศึกษา เมื่อประสบอุบัติเหตุถึงก่กรรมหรือศูนย์สียอวัยวะบางส่วนที่สำคัญของร่างกายรวมทั้งทุพลภาพทั้งหมดอย่างถาวร ตามเงื่อนไขประกันอุบัติ้หตุของมหาวิทยาลัย
2. อัตราความคุ้มครองที่ได้รับจะเป็นตามบริษัทประกันภัยที่มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดทำประกันไว้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละปีการศึกษา
3. วิธีเรียกเก็บเงินประกันขณะปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ในขณะปฏิบัติงานสหกิจศึกษานักศึกษาสามารถเรียกเงินประกันคืนได้เมื่อประสบอุบัติเหตุดังนี้
   3.1.ขอใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินภายหลังการรักษาจากโรงพยาบาลทุกครั้ง
   3.2.นำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่งทางไปรษณีย์ถึงหน่วยงาน
   3.3.ฝ่ายสหกิจศึกษาประจำคณะ/มหาวิทยาลัยจะส่งมอบเอกสารต่อไป เพื่อเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทประกันตามที่จะได้รับ
   3.4.บริษัทประกันภัยจะส่งเช็คจ่ายในนามนักศึกษา
   3.5.คณะ/มหาวิทยาลัย จะติดประกาศรายชื่อนักศึกษาและให้นักศึกษาไปรับเงิน



การประกันสุขภาพกรณีนักศึกษาสหกิจศึกษาเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุด โดยใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า