ติดต่อเรา 055-416601 ต่อ 1328 E-mail : coop-center@uru.ac.th

ความเป็นมาของศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning Quality Development Center)

     ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning Quality Development Center) มีความจำเป็นต่อการพัฒนานักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เพราะเป็นวิธีการผสมผสานการเรียนในห้องเรียนร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เริ่มต้นพัฒนาในประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2446-2452 เรียกและรู้จักกันว่า “ระบบสหกิจศึกษา”(Cooperative Education:Co-op) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ระบบนี้ก้าวหน้ามากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลและความร่วมมือของสถานประกอบการ ปัจจุบันสถานศึกษาและสถานประกอบการทั่วโลก มากกว่า 900 หน่วยงานจาก 39 ประเทศ นำระบบสหกิจศึกษา มาใช้และพัฒนาจนถึงระดับที่มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ.2526 ได้มีการตั้งสมาคมสหกิจศึกษานานาชาติ (World Association for Cooperative Education:WACE) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษาในระดับนานาชาติ สำหรับสหกิจศึกษาในประเทศไทยนั้น คำว่า “สหกิจศึกษา” ศัพท์บัญญัติโดยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยก่อตั้งโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

สหกิจคืออะไร

     สหกิจศึกษา เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการผสมผสานระหว่างการเรียนของนักศึกษาในห้องเรียน เข้ากับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างมีหลักการและเป็นระบบเพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง โดยกำหนดให้นักศึกษา ออกปฏิบัติงานในสถานประกอบการในฐานะเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานชั่วคราว เต็มเวลาเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ ซึ่งนักศึกษาจะได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงานและการเรียนรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะของงานอาชีพและทักษะด้านการพัฒนาตนเอง เป็นการศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการให้นักศึกษาออกไปปฏิบัติงานจริงเต็มเวลา ณ สถานประกอบการ

หลักการและเหตุผล

     สหกิจศึกษา เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในองค์กรผู้ใช้บัณฑิตอย่างมีระบบโดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้นักศึกษาปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ที่ให้ความร่วมมือเพื่อนักศึกษาจได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความเป็นจริงในการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางวิชาชีพเป็นความต้องการของสถานประกอบการอันจะส่งผลให้บัณฑิตมีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือกันดีระหว่างสถานศึกษากับองค์ผู้ใช้บัณฑิตทำให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้ตลอดเวลา และสถานประกอบการจะได้นักศึกษาร่วมปฏิบัติงานตลอดปี
     มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ที่ได้นำสหกิจศึกษามาเป็นหลักสูตรหนึ่งของการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เป็นระบบสหกิจศึกษาที่ผสมผสานการเรียนการสอนในสถานประกอบการและการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยนักศึกษาจะต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาเสมือนเป็นพนักงานอย่างน้อย 16 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง โดยงานที่นักศึกษาปฏิบัติต้องตรงกับสาขาวิชาชีพ และเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การจริง (Work-Based Learning) มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์จะเน้นนักศึกษาได้ทำงานพิเศษ (Project) ที่มีประโยชน์ต่อสถานประกอบการ เช่น การปรับปรุง การเพิ่มประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาของกระบวนการทำงาน ดังนั้นสหกิจศึกษาจึงถือว่าเป็นกลไกการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง

พ.ศ.2561

เปลี่ยนชื่อจาก ศูนย์สหกิจศึกษาเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาบูรณาการกับการทำงาน"